ชื่อผู้ใช้ : รหัสผ่าน : จำรหัสผ่าน สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน?

มานุษยวิทยา จบไปแล้วจะทำงานอะไร ?

หมวดกระทู้ :การงานอาชีพ

 

       มานุษยวิทยายังเป็น สาขาวิชาที่เป็นปริศนา และสร้างความฉงนให้กับผู้รับฟังเสมอว่า “จบไปแล้วจะทำงานอะไร” ในเว็บไซต์ Discover Anthropology กล่าวถึงการทำงานทางด้านมานุษยวิทยาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผู้ว่าจ้าง ยังรู้ไม่มากพอว่า ผู้ที่เรียนจบทางมานุษยวิทยาจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งบางที ผู้ที่จบมานุษยวิทยาต้องแจ้งให้ทราบถึง โครงสร้างงานหลักๆ และสิ่งที่เคยทำมาตอนเรียนมานุษยวิทยาให้กับนายจ้างรับทราบด้วยเช่นกัน” เราสามารถจำแนกงานต่างๆที่ นักศึกษามานุษยวิทยา และผู้ที่เรียนมานุษยวิทยามาให้ทราบเป็นแนวทางว่า เรียนสาขานี้ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด

1. เป็นนักวิจัยในสถานศึกษา หรือสถาบันวิชาการ ในสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ที่มีการเรียนการสอนในสาขาวิชามานุษยวิทยา บางแห่ง จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิจัยทางมานุษยวิทยาอย่างจริงจัง เช่น คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ ที่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิชาการบางแห่ง ยังคงต้องใช้นักมานุษยวิทยาเพื่อการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้ในรูปแบบของการพรรณณา เช่นที่สถาบันวิจัยสังคม ในมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือที่วิทยาลัยประชากรศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ในสถานที่เหล่านี้ยังคงต้องใช้ นักมานุษยวิทยา ในการลงพื้นที่ ทำวิจัยและเสนอมุมมองในเชิงมานุษยวิทยา ที่แตกต่างจากข้อมูลเชิงปริมาณที่เน้นในเรื่องของข้อมูลทางสถิติ หากสนใจงานด้านนี้ ลองหาหนังสือมาอ่านเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ของนักวิจัยและรูปแบบการทำงานในสถาบันวิชาการได้จากหนังสือ Rhythms of Academic Life: Personal Accounts of Careers in Academia เขียนโดย Peter J. Frost (Sage Publications, 1996) และ Auto-ethnographies: The Anthropology of Academic Practices เขียนโดย Anne Meneley และ Donna Young (Broadview Press LTD, 2005)


       - งานทางด้านสื่อสารมวลชน ด้วยการที่นักศึกษามานุษยวิทยา ต้องลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูล ทำให้ได้ทักษะการสื่อสารกับผู้คน การเขียนถ่ายทอดด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและละเอียด งานสื่อสารมวลชนจึงเป็นการนำเสี้ยวหนึ่งของกิจปฏิบัติของนักมานุษยวิทยามาใช้ให้เป็นประโยชน์ งานดังกล่าวได้แก่ การเป็นผู้สื่อข่าว นักเขียน ช่างภาพ การทำหนังสารคดี และ การกำกับภาพยนตร์ อาชีพเหล่านี้ ต้องอาศัยทักษะของการมองโลกอย่างรอบด้าน ละเอียด และเป็นกลาง ซึ่งก็คือหัวใจสำคัญของมานุษยวิทยา ยิ่งในช่วงหลัง แนวทางที่เรียกว่า “มานุษยวิทยาทัศนา” หรือ Visual anthropology กำลังเป็นที่จับตามองในแวดวงสารคดีภาพยนตร์ จึงทำให้บุคลากรทางด้านนี้ได้รับความสนใจในแง่ของผู้ผลิตสารคดีชาติพันธุ์ที่ไม่สามารถจะพบได้ในการทำสารคดีโดยทั่วไป แต่จะพบได้จากผู้ทำสารคดีที่มีมุมมองของมานุษยวิทยาเท่านั้น

2. ทำงานในธุรกิจเอกชน ไม่น่าเชื่อว่า นักศึกษาทางมานุษยวิทยา สามารถทำงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับสาขาวิชาที่เรียน แต่อาจเรียกได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนก็เป็นได้ การทำงานเอกชนครอบคลุมหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคน เราสามารถแบ่งแยกงานในธุรกิจเอกชนออกเป็นสองกลุ่มคือ

       - งานด้านการตลาด จากเว็บไซต์ Discover Anthropology บอกว่า งานด้านการวิจัยตลาด การวิเคราะห์ไปที่รูปแบบผลิตภัณฑ์ การจับกระแสสิ่งที่นิยมในตลาดการค้า (Social trends ) และการตลาดที่เกิดจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม (Intercultural marketing) นอกจากนี้งานการตลาดที่เกี่ยวข้องกับนักมานุษยวิทยาอีกด้านก็คือ การ วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค (Analysing consumer behaviour) ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าผู้ที่ทำงานด้านนี้จะต้องจบจากสาขาการตลาดเท่านั้น ซึ่งเป็นความจริงในแง่ของการตลาดที่สัมพันธ์กับตัวเลขและค่าสถิติ แต่ในแง่ของพฤติกรรม การแสดงออกทางวัฒนธรรม จิตใจ ความรู้สึก นักมานุษยวิทยาจะเข้ามาทำการวิจัยการตลาดตรงนี้

       ในแง่ของการทำงานด้านเอกชนโดยเพาะงานด้านการตลาด และการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ขอแนะนำให้อ่านหนังสือประกอบเพิ่มเติม เรื่อง Doing Anthropology in Consumer Research โดย Patricia Sunderland และ Rita M. Denny (Left Coast Press, 2007) และหนังสือชื่อ Getting Started in Consulting (Second Edition) ของ Alan Weiss (John Wiley & Sons, 2003)

4. ทำงานด้านการพัฒนา หรือ องค์กรการช่วยเหลือระหว่างประเทศ งานด้านการพัฒนาและองค์กรการช่วยเหลือระหว่างประเทศ มีความเกี่ยวพันระหว่างสถาบันวิชาการ NGOs การกุศล และชุมชนท้องถิ่น นักมานุษยวิทยา ที่ทำงานด้านนี้ จะอยู่ในส่วนของการดูแลภาพรวมของโครงการต่างๆ ทั้งในเรื่องของข้อมูลคนในท้องถิ่น สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นนั้นๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ นำข้อมูลที่ได้ เผยแพร่ให้กับภายนอกได้รับรู้ เพื่อการรับการช่วยเหลือจากสังคมภายนอก การทำงานด้านนี้ อาจต้องใช้ความอดทนและใจรักในงานพอสมควร เพราะรายได้ที่ได้รับ อาจไม่เพียงพอสำหรับบางคน แต่สิ่งที่ได้มากกว่าผลตอบแทนคือ ความสบายใจที่ได้ช่วยเหลือผู้คนบนโลกที่มีโอกาสน้อยกว่าเราให้มีโอกาสเท่าเทียมกันในสังคม ปัจจุบัน ภาควิชามานุษยวิทยาในประเทศอังกฤษ และหลายแห่งทั่วโลก ได้สนับสนุนการทำงานด้านการเป็นอาสาสมัครในองค์กรช่วยเหลือระหว่างประเทศ การทำงานในองค์กรการช่วยเหลือระหว่างประเทศ เช่น Unicef WHO หรือแม้แต่ องค์การสหประชาชาติ (United nation) เป็นต้น หากสนใจทำงานด้านนี้ ขอแนะนำให้อ่านหนังสือ The Aid Effect: Giving and Governing in International Development บรรณาธิการโดย David Mosse and David Lewis (Pluto Press, 2005)

3. ทำงานในองค์กรทางวัฒนธรรม การทำงานในองค์กรทางวัฒนธรรม อาจคล้ายคลึงกับงานนักวิจัยในสถาบันวิชาการ ในแง่ของงานวิจัย แต่ขอบข่ายการทำงานในองค์กรวัฒนธรรมกว้างขวางมากกว่า องค์กรวัฒนธรรมที่เห็นได้ชัด คือ พิพิธภัณฑ์ นับตั้งแต่การเป็นภัณฑารักษ์ การทำงานวิจัยสำหรับการจัดแสดงและงานนิทรรศการ การทำงานด้านการศึกษาในพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะกิจกรรมและ วัตถุจัดแสดงเพื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชน เป็นต้น Discover Anthropology ให้คำแนะนำว่า “หากต้องการทำงานในพิพิธภัณฑ์อย่างจริงจัง ควรเริ่มจากการเป็นอาสาสมัครในพิพิธภัณฑ์ก่อน เพราะการเป็นอาสาสมัครในพิพิธภัณฑ์ จะทำให้เราได้เรียนรู้งานด้านการจัดการพิพิธภัณฑ์อย่างครบทุกด้าน อีกทั้ง ยังเป็นการทำความรู้จักกับบุคคลในสายงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะช่วยให้เราทำงานในพิพิธภัณฑ์ได้ง่ายขึ้นในอนาคต” สำหรับการทำงานในพิพิธภัณฑ์ขอแนะนำให้อ่านหนังสือของ Elizabeth Schlatter เรื่อง Museum Careers: A Practical Guide for Novices and Students (Left Coast Press, 2008) และหนังสือ Creative Careers in Museums ของ Jan Burdick (Alworth Press, 2007)

5. ทำงานในหน่วยงานของรัฐ การทำงานในหน่วยงานของรัฐ อาจมีการคาบเกี่ยวกันระหว่างการทำงานในองค์กรด้านวัฒนธรรม แต่หน่วยงานของรัฐในที่นี้หมายถึง การทำงานในกระทรวง กรม ที่เกี่ยวข้อง สำหรับในประเทศไทยที่เห็นได้ชัดคือ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน หรือ กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น Discover Anthropology กล่าวว่า “นักมานุษยวิทยาที่ทำงานในหน่วยงานของรัฐเหล่านี้จะทำหน้าที่วางแผนเพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศ อาจไม่ใช่ทั้งหมด แต่ จะต้องอาศัยข้อมูลในมุมมองของนักมานุษยวิทยาส่วนหนึ่ง นำมาประยุกต์ และ เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาแผนพัฒนาประเทศ เป็นต้น” รูปแบบการทำงานในแต่ละกระทรวงอาจแตกต่างกันไป แต่โดยภาพรวม นักมานุษยวิทยาจะทำงานเพื่อหาข้อมูลมาสนับสนุน กลุ่มคน ทั้งในด้านของวัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่ และความเชื่อ เพื่อให้การวางแผนใดๆมีความครอบคลุม ไม่ทับซ้อน และเป็นประโยชน์กับคนทุกๆฝ่าย สำหรับการทำงานในหน่วยงานของรัฐ สามารถหาหนังสืออ่านเพิ่มเติมได้ เช่น Career Opportunities in Politics, Government, and Activism เขียนโดย Joan Axelrod- Contrada (Facts on File, 2003) และ Designing An Anthropology Career: Professional Development Exercises เขียนโดย Sherylyn H Briller และ Amy Goldmacher (Alta-Mira Press, 2008)

6. ทำงานด้านสุขภาพ Discover Anthropology กล่าวว่า “มานุษยวิทยา เป็นสาขาวิชาที่ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากกว่าสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สังคมอื่นๆ มานุษยวิทยา มีการผสมผสานระหว่าง สังคมวิทยา ชีววิทยา และมุมมองทางวัฒนธรรม ที่ทั้งหมดในการกล่าวถึงมนุษย์” ด้วยเหตุนี้ มานุษยวิทยาจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาชีววิทยาในแง่ของลักษณะกายภาพของมนุษย์ นักมานุษยวิทยาทางชีววิทยา จะทำงานในคณะแพทยศาสตร์ โดยเฉพาะในภาควิชาสรีระวิทยา พยาธิวิทยา และการโภชาการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานวิจัยในแง่มุมของวิวัฒนาการทางด้านอาหารที่เกี่ยวข้องกับความร่วมสมัยของสุขภาพของคน เราเรียกงานด้านนี้อีกอย่างว่า มานุษยวิทยาทางการแพทย์ (Medical anthropology) สำหรับผู้สนใจงานด้านนี้สามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือ Culture, Health and Illness 5th Edition เขียนโดย Cecil G. Helman ( Hodder Arnold, 2007) และ Medicine as Culture: Illness, Disease and the Body in Western Societies บรรณาธิการโดย Deborah Lupton (Sage, 2003)

7. ทำงานด้านการท่องเที่ยว ด้วยความที่การทำงานของนักมานุษยวิทยาคือการลงพื้นที่เพื่อไปศึกษากลุ่มคนในพื้นที่ใดๆ ซึ่งการศึกษาดังกล่าวนอกจากจะศึกษาเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคน วัฒนธรรม ความเชื่อ และประเพณีแล้ว นักมานุษยวิทยาต้องศึกษาสภาพแวดล้อม สถานที่ ความเป็นอยู่ รอบๆของกลุ่มคนที่ศึกษาด้วย การฝังตัวอยู่ในพื้นที่นานๆ จึงทำให้นักมานุษยวิทยามีความเชี่ยวชาญ และรู้สึกในสถานที่นั้นๆ ด้วยเหตุผลนี้ นักมานุษยวิทยาหลายคนจึงเลือกที่จะทำงานด้านการท่องเที่ยว ด้วยการมีทุนเดิมจากการศึกษาทางด้านมานุษยวิทยานั่นเอง งานด้านการท่องเที่ยวได้แก่ การเป็นมัคคุเทศน์ การทำงานในหน่วยงานการท่องเที่ยว หรือในโรงแรม เป็นต้น หากสนใจงานด้านการท่องเที่ยว โปรดอ่านหนังสือ An introduction to Tourism and Anthropology

เขียนโดย Peter Burns (Routledge, 1999)

ข้อมูลประกอบการเขียน  จาก http://www.discoveranthropology.org.uk/career-paths

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.sac.or.th/main/content_detail.php?content_id=155

โพสโดย : แอดมิน
วันที่โพส : 19 มกราคม 2557
Email : BenNisitZone@nisit-zone.com

แสดงความคิดเห็นของคุณ

1
ชื่อผู้ตอบ: *
อีเมล์ : *
กรุณาใส่รหัสตามรูปที่เห็น *

ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น